จากที่ได้แนะนำ 20 จุดท่องเที่ยว..ห้ามพลาด ในรัฐราชาสถานไปแล้ว https://th.readme.me/p/22734 มาครั้งนี้ผมจะมาแนะนำอีก 6 จุดท่องเที่ยว..ห้ามพลาด ในรัฐอุตตรประเทศบ้าง โดยจะปักหมุดที่เมือง Agra และ Lucknow ครับ

อุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เป็น 1 ใน 29 รัฐของอินเดีย ตั้งอยู่ทางส่วนบนของประเทศ เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญในศาสนาฮินดูครับ


Agra


Agra เคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยที่เรียกว่า “ฮินดูสถาน” ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียในรัฐอุตตรประเทศ


1. Taj Mahal

Advertisementshopee

ทัชมาฮาล (Taj Mahal) อนุสรณ์สถานแห่งความรักอมตะที่สวยที่สุดในโลก สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมกุล ผู้มีรักที่มั่นคงต่อมุมตัช มาฮาล พระมเหสีของพระองค์เจ้าชายขุร์รัม ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล พระจักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงได้พบรักกับธิดาของรัฐมนตรี เธอชื่อ อรชุมันท์ พานุ เพคุม วัย 14 ปี หลังจากนั้น 5 ปี เมื่อพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน มีพระชนม์มายุ 36 พรรษา และนางอรชุมันท์ พานุ เพคุม ในวัย 19 ปี จึงได้มีการอภิเษกสมรสกันในปี พ.ศ.2155 จากนั้นทั้งสองก็มิเคยได้อยู่ห่างกันอีกเลย หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี พ.ศ.2171 พระองค์มอบความไว้วางใจแก่ อรชุมันท์ พานุ เพคุม เป็นอย่างมาก และเรียกนางว่า มุมตัช มาฮาล ซึ่งแปลว่า “อัญมณีแห่งราชวัง” พระนางมุมตัช มาฮาล นับเป็นพระมเหสีคู่บารมีสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเป็นอย่างมาก ครั้นในปี พ.ศ.2174 พระมเหสีมุมตัช มาฮาล ได้สิ้นพระชนม์ลงในวัย 39 ปี หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีคู่บารมีนำความเศร้าโศกเสียใจให้สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันเป็นอย่างมาก พระองค์ไม่ยอมเสวยพระกระยาหารเป็นเวลาถึง 7 วัน ได้แต่ทรงคร่ำครวญตลอดเวลา นับจากวันสิ้นพระชนม์ของมเหสีคู่กายพระองค์ไม่ออกว่าราชการ ห้ามมีการบรรเลงดนตรีในพระราชวัง ห้ามแต่งเครื่องเพชรนิลจินดา ห้ามแต่งเครื่องแต่งกายสีอื่นนอกจากสีขาวอันเป็นสีไว้ทุกข์เป็นเวลา 2 ปี โดยถ้าหากใครขัดขืนก็ให้ฆ่าทิ้งเสีย

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีคู่กาย พระองค์ได้สั่งหาช่างทั้งในอินเดียและในประเทศใกล้เคียง เช่น เปอร์เซีย อาหรับ และตุรกี นำเสนอแบบที่ฝังศพของพระชายา ซึ่งทรงได้แบบมาหลายแบบ แต่พระองค์ได้ทรงเลือกแบบจากสถาปนิกชาวตุรกี ชื่อ อิสา อาฟันดี มาสร้างทัชมาฮาลนี้ และได้ระดมช่างและคนงานมาจากที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ถึงกับต้องสร้างเมืองให้คนเหล่านี้ได้อาศัย โดยเมืองใหม่นี้ชื่อว่าเมืองมุมตาสบาด แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองทัชคันช์

ทัชมาฮาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนาบนพื้นที่ประมาณ 42 เอเคอร์ สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวที่นำมาจากเมือง Jaipur, ศิลาแลงนำมาจากเมือง Fatehpur Sikri ประดับลวดลายด้วยเพชรจากเมืองฟันนา พลอยสีฟ้าจากธิเบต พลอยสีเขียวจากอียิปต์ หินสีฟ้าและโมราจากคัมภัย หินทองแดงจากรัสเซีย หินทรายจากแบกแดด จนได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร มีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 22 ปี มี อุสตาด ไอซา เป็นนายช่างผู้ออกแบบและภายหลังถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สวยกว่าได้ ราชสมบัติส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์

ภายหลังที่สร้างทัชมาฮาลเป็นที่ฝังศพของพระชายาแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันก็ประสงค์ที่จะสร้างที่ฝังศพของพระองค์เองไว้ที่อีกฝั่งของแม่น้ำยมุนาให้เป็นปราสาทคู่กับทัชมาฮาล และปราสาทหลังใหม่นี้พระองค์ตั้งพระทัยให้สร้างด้วยหินอ่อนสีดำล้วนเพื่อให้คู่กับทัชมาฮาลซึ่งทำด้วยหินอ่อนสีขาวล้วน แต่ ออรังเซพ พระโอรสของพระองค์เกรงว่าพระบิดาจะใช้เงินของคลังหลวงเสียหมด เมื่อตอนที่ตนขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจะไม่มีเงินแผ่นดินเหลือ ในปี พ.ศ.2202 ออรังเซพจึงจับพระบิดาขังไว้ในมูซัมมัน เบิร์จ ภายใน Agra Fort แล้วตั้งตัวเองขึ้นครองราชย์แทน สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ถูกกักขังอยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ.2209 ออรังเซพไม่ยอมสร้างที่ฝังพระศพให้กับพระองค์ จึงนำศพพระบิดาไปฝังข้างศพพระมารดาไว้ที่ทัชมาฮาลนั่นเอง ตามตำนานกล่าวว่าในวันสุดท้ายของชีวิตสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาลและสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในกำมือ

ทัชมาฮาลเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05.30-17.00 น. นักท่องเที่ยวไทยยื่น Passport ไทยเพื่อรับส่วนลดในการเข้าชม โดยเสียค่าธรรมเนียม 540 รูปี (ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ได้แสดง Passport ไทย จะเสียค่าธรรมเนียมคนละ 1,000 รูปี) ในตั๋วเข้าชมเขียนไว้ว่า สามารถอยู่ในทัชมาฮาลได้ 3 ชั่วโมงนะครับ หากเราอยู่เกินแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบ คงจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มครับ ใครที่ไม่อยากเบียดเสียดยัดเยียดกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย แนะนำว่าให้เข้าชมทัชมาฮาลในวันจันทร์-พฤหัสบดีครับ


2. Agra Fort

Advertisement

อัคราฟอร์ท (Agra Fort) เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่ใช้เวลาการสร้างยาวนานถึงสามยุคของกษัตริย์ คือยุคของสมเด็จพระจักรพรรดิอัคบาร์, สมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีรี และสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันนี้เองที่ได้พัฒนาให้ Agra Fort เป็นพระราชวังโดยสมบูรณ์และเป็นพระราชวังส่วนหนึ่งของกษัตริย์ในราชวงศ์โมกุล ลักษณะของ Agra Fort เป็นกำแพงสองชั้นและป้อมอาคารทางเข้าสี่ทิศ กำแพงล้อมรอบสูงกว่า 20 เมตร ยาวถึง 2.5 กิโลเมตร และมีคูน้ำที่กว้างถึง 10 เมตรล้อมรอบทุกด้าน ภายในบริเวณมหาราชวังประกอบด้วยท้องพระโรง ฮาเล็ม ห้องนางสนม สุเหร่า สระอาบน้ำ อุทยานดอกไม้

ชะฮันคีร์ มาฮาล (Jahangiri Mahal) เป็นตำหนักส่วนพระองค์ของพระเจ้าชะฮันคีร์ ในสมัยเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ก่อสร้างจากหินทรายแดงทั้งหลัง สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบฮินดู ด้านในมีการสลักลวดลายอย่างสวยงาม หลายสิ่งอย่างสื่อให้เห็นเอกลักษณ์ของฮินดูเช่น ลายดอกบัว เสาแต่ละต้นในตำหนักจะใช้หินก้อนเดียวในการแกะสลัก ส่วนกลางของพระตำหนักจะเป็นลานกว้างและจะมีห้องต่างๆ อยู่โดยรอบลานกว้างนั้น พื้นที่ส่วนในสุดของชะฮันคีร์ มาฮาล จะมีคล้ายๆ ซุ้มระเบียง ซึ่งในวันที่ฟ้าใสจะมองเห็นทัชมาฮาลได้ด้วย แต่ในวันที่ผมไปหมอกลง เลยมองเห็นแต่ความขาวโพลน..


กัส มาฮาล (Khas Mahal) พระตำหนักทำด้วยหินอ่อนสีขาว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่งามที่สุดแห่งหนึ่งของงานเขียนสีบนหินอ่อน ต้องบอกเลยครับว่าสวยงามจริงๆ เห็นแล้วอดที่จะยกกล้องมาเก็บภาพไว้ไม่ได้ ด้านหน้าของกัส มาฮาล จะเป็นสวนองุ่น (Anguri Bagh) ที่มีการตกแต่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งมาจากอิทธิพลที่ชาวโมกุลได้รับมาจากชาวเปอร์เชียอีกทอดหนึ่ง สวนนี้ใช้เป็นที่พักผ่อนของจักรวรรดิโมกุล ปัจจุบันไม่มีต้นองุ่นแล้วครับ มีแต่ไม้คลุมดินเท่านั้น


ด้านข้างของกัส มาฮาล เป็นที่ตั้งของ มูซัมมัน เบิร์จ (Musamman Burj) หรือ Jasmine Palace เป็นหอคอยขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งมีระเบียงหินอ่อนเปิดออกไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ใช้เป็นที่คุมขังสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน โดย ออรังเซพ พระโอรสของพระองค์เอง ด้วยเหตุที่ว่ากลัวพระบิดาจะก่อสร้างที่ฝังศพของพระองค์และจะใช้เงินจากคลังหลวงจนหมด สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮันใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกว่า 8 ปี อยู่ในมูซัมมัน เบิร์จ และเฝ้ามองผ่านแม่น้ำยมุนาไปยังทัชมาฮาลที่ซึ่งมเหสีสุดที่รักของพระองค์ประทับอยู่อย่างนิรันดร เสียดายในวันที่ผมไปหมอกลงทำให้มองไม่เห็นทัชมาฮาลครับ ภายใน มูซัมมัน เบิร์จ ตกแต่งด้วยหินอ่อนสีขาวและประดับด้วยอัญมณีที่มีค่ามาตกแต่งเป็นลวดลายดอกไม้ต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ Jasmine Palace ครับ


ดิวัน-อิ-อัม (Diwan-i-Am) หรือท้องพระโรง สำหรับใช้ออกว่าราชการทั่วไป อนุญาตให้ประชาชนได้มาถวายฎีการ้องทุกข์ จุดเด่นของท้องพระโรงนี้คือการประดับด้วยเสามากมายตามสถาปัตยกรรมแบบโมกุลและมุสลิม ในท้องพระโรงแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของบัลลังก์นกยูงทอง (Peacock Throne) ด้วยครับ


Agra Fort เปิดให้เข้าชมตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตก ค่าเข้าชม Agra Fort หากยื่น Passport ไทยจะได้ส่วนลดโดยจ่ายค่าธรรมเนียมเท่ากับคนอินเดียคือ 90 รูปี (ต่างชาติคนละ 550 รูปี) ครับ


3. Baby Taj






สุสานอิตมัดอุดดุลลาห์ (Itmad-ud-Daula) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Baby Taj เป็นสุสานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายมีร์ซา กียาซ เบค (Mirza Ghiyas Beg) พ่อค้าที่ทำการค้าจนล้มละลาย แต่โชคชะตากลับพลิกผันหลังจากที่บุตรสาวของเขานามว่า นูร์ ชะฮัน (Nur Jahan) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งต่อมานายกียาซ เบค ได้ก้าวขึ้นเป็นเสนาบดีฝ่ายการคลังของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ แห่งราชวงศ์โมกุล และได้รับฐานันดรอิตมัดอุดดุลลาห์ (เสาหลักแห่งจักรวรรดิโมกุล) ขณะที่บุตรีของเขาเป็นพระมเหสีของท่านจักรพรรดิ และพระจักรพรรดินีนูร์ ชะฮันนี่เองที่ทรงได้สร้างสุสานขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่นายมีร์ซา กียาซ เบคในช่วงทศวรรษที่ 1620 ครับ

Baby Taj สร้างจากหินอ่อนขาวชนิดเดียวกับที่นำไปใช้สร้างทัชมาฮาล มีการตกแต่งด้วยพลอยที่มีความประณีตสูงคู่กับกระเบื้องโมเสกที่มีสีสันสวยสะดุดตา จนเป็นที่เลื่องชื่อด้านงานเกะสลักที่อ่อนช้อยและละเอียดบรรจง บริเวณผนังด้านในและซุ้มประตูมีการตกแต่งด้วยภาพวาดและการแกะลวดลายดอกไม้ สัตว์ และรูปมนุษย์ต่างๆ ไว้อย่างงดงาม ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่คงต้องยกให้กับทัชมาฮาล แต่ถ้าพูดถึงความละเอียดอ่อนของงานแกะสลักตกแต่ง ผมขอยกให้กับ Baby Taj เลยครับ ถึงแม้ว่าขนาดความยิ่งใหญ่ของ Baby Taj จะเทียบไม่ได้กับทัชมาฮาลเลย แต่บอกเลยว่าความงามของ Baby Taj นี่เล็กพริกขี้หนูจริงๆ

การเข้าชม Baby Taj มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม Passport ไทยใช้เป็นส่วนลดได้เช่นเคย โดยเสียค่าธรรมเนียมคนละ 30 รูปี (นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือผู้ที่ไม่ได้แสดง Passport ไทยเสียค่าธรรมเนียมคนละ 210 รูปี)


4. Fatehpur Sikri

ฟเตหปุระสีกรี (Fatehpur Sikri) อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล ระหว่างปี ค.ศ.1571-1585 เป็นเมืองที่พระเจ้าอัคบาร์มหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อหวังจะให้เป็นเมืองหลวงใหม่ แต่เนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่านทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำ และที่ตั้งของเมืองยังอยู่ใกล้กับอาณาเขตของอาณาจักรราชปุตนะทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่บ่อยมาก พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปยังอัคราในปี ค.ศ.1598 ที่ซึ่งพระองค์เริ่มปกครองสมัยแรกๆ แต่ถึงเมืองจะทิ้งร้างไว้นาน Fatehpur Sikri ก็ยังคงหลงเหลือความงดงามและได้เห็นแนวความคิดที่จะรวมทุกศาสนาเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้าอัคบาร์มหาราช

พระเจ้าอัคบาร์มหาราชได้ใช้เวลาออกแบบผังเมืองและสร้างเมืองถึง 15 ปี โดยได้ก่อสร้างกำแพงเมืองรอบด้าน พระราชวัง ตำหนัก ฮาเล็ม ศาล มัสยิด และอาคารสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้พระองค์ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้าง Fatehpur Sikri เป็นอย่างมาก โดยตั้งใจที่จะชุบชีวิตอันหรูหราของราชสำนักเปอร์เซียโบราณ โดยการวางแผนนั้นรับรูปแบบตามราชสำนักเปอร์เซีย แต่มีการปรับโดยใส่รายละเอียดแบบอินเดียเข้าไปด้วย

Fatehpur Sikri สร้างจากหินทรายสีแดง สถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานงานศิลปะแบบเบงกอลและคุชราต นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมฮินดูและเชน ผนวกเข้ากับองค์ประกอบแบบศิลปะอิสลามอย่างกลมกลืน บริเวณหมู่ราชมนเทียรประกอบด้วยตำหนักหลายหลังเรียงต่อกันอย่างเรียบร้อยและสมมาตรบนฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่นำมาจากการก่อสร้างแบบอาหรับและเอเชียกลาง Fatehpur Sikri ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO ในปี พ.ศ.2529 ด้วยนะครับ

รู้จัก Fatehpur Sikri กันพอสมควรแล้ว เราไปสำรวจใน Royal Palace กันครับ


ท้องพระโรงส่วนพระองค์ (Diwan-i-khas) มีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ที่ด้านบนอาคารมียอดแบบฉัตรีอยู่ทั้งสี่มุม จุดเด่นของท้องพระโรงนี้อยู่ที่เสากลางซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวเสาเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมจุดที่เตะตาที่สุดเห็นจะเป็นบริเวณหัวเสาที่มีการแกะสลักลายเรขาคณิตและบุปผาชาติอย่างวิจิตรบรรจง หัวเสาเป็นกลีบคานจำนวน 36 กลีบ ซึ่งรองรับบริเวณที่ประทับของพระเจ้าอัคบาร์มหาราชและยังเชื่อมกับคานทั้งสี่มุมของอาคารบริเวณชั้นบน บนคานเป็นทางเดินไปยังที่ประทับ ผมมองๆ ดูแล้วแอบเสียวแทนเพราะคานสูงเอาเรื่องเลยทีเดียว ท้องพระโรงนี้จะใช้เมื่อพระเจ้าอัคบาร์มหาราชเสด็จออกพบแขกต่างศาสนาที่จะมาแลกเปลี่ยนความเชื่อซึ่งกันและกัน และใช้เป็นสถานที่ออกพบแขกสำคัญเป็นการส่วนพระองค์ด้วยครับ


ไม่ไกลจากท้องพระโรงส่วนพระองค์เป็นที่ตั้งของ พานช์ มาฮาล (Panch Mahal) เป็นพระตำหนักสูงถึง 5 ชั้น สร้างลดหลั่นขึ้นไปทีละชั้น ดูคล้ายๆ พีระมิด ซึ่งเป็นเพียงบุษบกแบบฉัตรี เมื่อตอนแรกสร้างภายในตกแต่งและกั้นห้องด้วยฉากหินฉลุ สันนิษฐานว่าพระตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับของพระสนมและนางใน พื้นของแต่ละชั้นรองรับด้วยเสาหินแกะสลักโดยรอบรวมทั้งสิ้น 176 ต้น




ประตูชัยบูลันด์ ดาร์วาซา (Buland Darwaza) ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณกำแพงฝั่งทิศใต้ของมัสยิดชามา มีขนาดใหญ่โตถึง 54 เมตร บริเวณซุ้มประตูทางเข้าประกอบด้วยช่องโค้งจำนวนสามแห่ง โดยช่องกลางมีขนาดใหญ่ที่สุดเรียกกันว่า “ประตูเกือกม้า” เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มักจะตอกเกือกม้าติดลงบนบานประตูขนาดใหญ่เพื่อเป็นการนำโชค





มัสยิดชามา (Jama Masjid) ตามประวัติบอกว่าน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างแรกๆ ที่สร้างขึ้นในฟเตหปุระสีกรี เนื่องจากหลักจารึกระบุว่าสร้างเสร็จราวปี ค.ศ.1571-1572 การก่อสร้างอิงตามหลักของมัสยิดแบบอินเดีย ซึ่งมีโถงอิวันตั้งอยู่ตรงกลางลาน พร้อมทั้งฉัตรีที่เรียงรายกันเป็นแถวเหนือบริเวณกำแพงอาคาร ในมัสยิดประกอบด้วยมิหร็อบจำนวน 3 แห่ง (มิหร็อบเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นเครื่องหมายระบุทิศทางสู่ศูนย์รวมศรัทธาของมุสลิม) โดยห่างกันจำนวน 7 โค้ง มิหร็อบหลักตรงกลางนั้นมีโดมครอบอยู่ โดยตกแต่งด้วยงานอินเลย์หินอ่อนขาวประดับอย่างวิจิตรในรูปทรงเรขาคณิต (อินเลย์คือการฝังหินสีลงในหินอ่อน) มัสยิดแห่งนี้มีขนาดใหญ่มาก โดยวัดขนาดจากฝั่งเหนือถึงใต้ได้ 133.6 เมตร และวัดจากตะวันออกถึงตะวันตกได้ 165.2 เมตร



อาคารหลังสีขาวที่เห็นนี้คือสุสานของนักบุญซาลิม คิชติ (Shaikh Salim Chishti) ส่วนอาคารที่อยู่ติดกันคือ Jamaat Khana เป็นสุสานของผู้สืบทอดของ Shaikh Salim ครับ

สุสานของนักบุญซาลิม คิชติ (Shaikh Salim Chishti) เป็นอาคารที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสชั้นเดียว ครอบบริเวณสุสานของนักบุญซาลิม คิชติ ตั้งอยู่ในลานกลางของมัสยิดชามา บริเวณตรงกลางอาคารเป็นที่ตั้งของหลุมฝังศพนักบุญ ตกแต่งครอบด้วยบุษบก ทำเป็นงานไม้แกะสลักประดับโมเสกมุกและมีการใช้ “จาลี” หรือฉากหินแกะสลักด้วยทรวดทรงเรขาคณิตอยู่โดยรอบออาคาร ใครที่จะเข้าไปชมด้านในสุสานจะต้องสวมหมวกกะปิเยาะห์ (หมวกที่ชายชาวมุสลิมใส่) แต่คนที่ไม่มีหมวกปะปิเยาะห์ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะด้านหน้าจะมีตะกร้าพลาสติกเล็กๆ ให้ใส่แทนหมวกผ้าครับ

สำหรับอาคารที่อยู่ติดกับสุสานของนักบุญซาลิม คิชติ คือ Jamaat Khana ที่สร้างขึ้นจากหินทรายสีแดง เป็นสุสานหลักของอิสลาม คาน ที่ 1 บุตรีของซีคบัดรุดดิน คิชติ และหลานของชีคซาลิม คิชติ ซึ่งเคยเป็นนายพลประจำกองทัพโมกุลในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชะอันกีร์ ด้านบนของสุสานประดับยอดด้วยโดมและฉัตรีจำนวน 36 หลัง นอกจากนี้ยังเป็นที่ฝังศพของอีกหลายบุคคล บางสุสานไม่สามารถระบุได้ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้สืบตระกูลของชีค ซาลิม คิชติ

ค่าเข้าชม Fatehpur Sikri นั้น หากแสดง Passport ไทยจะเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมเพียง 50 รูปี (นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียค่าธรรมเนียม 550 รูปี) ครับ


Lucknow


Lucknow เป็นเมืองเอกแห่งรัฐอุตตรประเทศ ในอดีตลัคเนาเป็นเมืองรองสำคัญของอินเดีย แต่ปัจจุบันได้พัฒนาเติบโต เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การคมนาคม จนเป็นหนึ่งในเมืองหลักของอินเดียไปแล้ว และยังเป็นมหานครที่ได้รับสมญานามว่านิวยอร์คแห่งอินเดียด้วยครับ สมญานามที่ได้รับดูโก้หรูมาก แต่จากความรู้สึกส่วนตัวผม สภาพบ้านเมืองในตัวเมืองมันดูไม่ต่างอะไรกับเมืองอื่นๆ ที่ผมได้สัมผัสมา แต่ถ้าหากว่าเป็นเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ผมว่าที่นี่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมากครับ

ลัคเนาเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เคยถูกปกครองโดยมุสลิมที่มาจากเปอร์เซียและราชวงศ์โมกุลจากมองโกล รวมถึงถูกอังกฤษปกครองในยุคเมืองขึ้น ลัคเนาจึงมีความโดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งแบบฮินดู-มุสลิมแบบเปอร์เซีย-ยุโรป และศิลปะแบบ มุสลิมโมกุล ครับ


5. Bara Imambara

อัครมัสยิตบาราอิมามบารา (Bara Imambara) ศาสนสถานของชาวมุสลิม สร้างในปี ค.ศ.1785 เพื่อเป็นที่อยู่ของท่าน Asaf u daula นาวาบ (Nawab) องค์ที่ 4 แห่งเมืองลัคเนา หรือเทียบเท่ากับเจ้าเมืองนั่นเอง



เพียงแค่ “รูมิ ดะร์วาซา” (Rumi Darwaza) หรือ “ประตูเตอร์กิช” ประตูเมืองขนาดใหญ่ ก็เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างที่สวยงามตามศิลปะที่เกิดจากผสมผสานได้อย่างลงตัวครับ



ค่าธรรมเนียมในการเข้าชมอัครมัสยิตบาราอิมามบารา คนละ 500 รูปี ข้ามเมืองมา Lucknow แล้ว Passport ไทยไม่สามารถใช้เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมได้แล้วครับ



เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามา ด้านขวามือจะมองเห็นมัสยิดอัสฟี (Asifi Mosque) มัสยิดขนาดใหญ่ ซึ่งในยุคนั้นที่อยู่ของเจ้าเมืองจะมีมัสยิดรวมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันด้วย ทำให้บาราอิมามบาราได้รับการยกย่องให้เป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย มัสยิด อัสฟี โดดเด่นด้วยโดม 3 ยอด ขนาบข้างด้วยหอระฆังแฝด 2 หอ ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลัคเนา มัสยิด อัสฟี สามารถเดินชมได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้นนะครับ



แต่ถ้าเราเดินตรงไปจนสุดจะพบกับ Bhool Bhulaiya ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า





ภายใน Bhool Bhulaiya เป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่ที่เน้นโทนสีเขียว มีความโดดเด่นในเรื่องศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างฮินดูและมุสลิม มีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นบนฝ้าเพดานดูสวยงามมากๆ ที่ช่องประตูและหน้าต่างมีการเจาะเป็นช่องแสงเพื่อให้แสงลอดผ่านเข้ามา ถือว่าเป็นการนำแสงสว่างจากธรรมชาติมาใช้ได้อย่างน่าทึ่ง และสิ่งที่ต้องยอมรับในความสามารถของช่างสมัยนั้นคือการสร้างท้องพระโรงแห่งนี้ เป็นการสร้างแบบไร้เสาค้ำ นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรมที่สร้างมาเมื่อสองร้อยกว่าปี (ค.ศ.1784)



ทางด้านซ้ายมือสุดติดกับ Bhool Bhulaiya จะเป็นทางขึ้นเขาวงกต (Labyrinth) ถ้าหากเราเดินขึ้นบันไดไปตามเส้นทางเรื่อยๆโดยไม่แวะเถลไถลออกนอกเส้นทางบันได เราจะขึ้นไปสู่ชั้นดาดฟ้า ซึ่งดาดฟ้าด้านบนสามารถมองชมวิวของอัครมัสยิตบาราอิมามบารา ได้อย่างสวยงาม


สำหรับขาลง ผมเดินลงบันได คนละบันไดกับที่ขึ้นมา หายนะกำลังมาเยือนโดยที่ไม่รู้ตัว ขาขึ้นผมเดินตรงดิ่งอย่างเดียว แต่ทำไมขาลง มันไม่ตรงดิ่งเหมือนตอนขาขึ้น งานงอกครับ กลับกลายเป็นว่าผมต้องเข้าช่องโน้น ออกช่องนี้ บางช่องมืดจนมองอะไรไม่เห็น เดินวกไปวนมา จนมาทะลุระเบียงที่อยู่บนเพดานของ Bhool Bhulaiya อ้าว!! มาออกตรงนี้ได้ไง ตอนนั้นเริ่มใจไม่ดีแล้วครับ เดินวนไปวนมาอยู่ในนั้นจนเจอคนอินเดีย เลยคิดจะเดินตามเขาไป แต่ดูเหมือนว่าเขาก็กำลังคลำหาทางออกเหมือนกัน ผมเลยค่อยๆ นึกถึงเส้นทางตอนที่ผมเดินลงมาในเขาวงกต จากนั้นค่อยๆ เดินย้อนตามเส้นทางเพื่อกลับขึ้นไปยังบนชั้นดาดฟ้าอีกทีหนึ่ง (ดีที่ยังจำเส้นทางที่เดินลงมาได้) เมื่อกลับถึงชั้นดาดฟ้าแล้ว ก็เลยกลับไปลงยังเส้นทางที่ผมเดินขึ้นมาในตอนแรก ทีนี้เดินตรงดิ่งกลับลงมาถึงชั้นล่างอย่างปลอดภัยครับ


ตอนแรกผมก็แอบนึกสงสัยนะว่าเขาวงกตอยู่ตรงไหน ซึ่งส่วนใหญ่เขาวงกตน่าจะอยู่บนพื้นราบ อาจจะตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานที่สำคัญ แต่เขาวงกตในอัครมัสยิตบาราอิมามบารานี้ไม่เหมือนใคร เพราะมันเป็นเขาวงกตที่อยู่เหนือเพดานครับ ฟังแล้วอาจจะงง คือเขาวงกตจะอยู่ช่วงระหว่างเพดานของท้องพระโรงกับชั้นดาดฟ้า ตามภาพคือบริเวณที่ผมทำแถบสีเขียวเอาไว้ครับ




ฝั่งตรงข้ามกับมัสยิดอัสฟี เป็นที่ตั้งของ Shahi Bauli สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บน้ำ ซุ้มหน้าต่างที่นี่เยอะมาก กะจากสายตา น่าจะเป็นร้อยซุ้มเหมือนกัน สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของ Shahi Bauli ผมขอยกให้กับ CCTV จุดนี้เลยครับ หากสังเกตดีๆ ตรงพื้นดินจะมีการขุดเป็นบ่อน้ำเล็กๆ ทรงสี่เหลี่ยม ความลึกเพียงแค่ให้น้ำที่ขังส่องเห็นเงาสะท้อนได้เท่านั้น แล้วบ่อที่ว่านี้มันทำหน้าที่อะไรนะเหรอ คำตอบคือ มันทำหน้าที่เหมือนกล้อง CCTV คือมันจะทำหน้าที่คล้ายกับกระจกที่จะสะท้อนเงาบริเวณทางเข้าออก เมื่อเวลามีคนเดินเข้าออกด้านนอก คนที่อยู่ด้านในจะมองเห็นว่าใครเดินเข้าออกได้จากการสะท้อนน้ำของบ่อน้ำเล็กๆ บ่อนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยนั้นจริงๆ ครับ


6. Ambedkar Memorial Park











อนุสรณ์อัมเบดการ์เมมโมเรียลพาร์ค (Ambedkar Memorial Park) เป็นอนุสรณ์สถานของ ดร.ภีมราว รามชี อัมเบดการ์ (Ambedkar) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย และเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ท่านถูกยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” ด้วย อัมเบดการ์เป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และได้เดินร่วมขบวนกับมหาตมะ คานธี และชวาหระลาล เนห์รู เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ต่อมาเนห์รูได้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้แต่งตั้งให้อัมเบดการ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรม ในอดีต อัมเบดการ์เป็นเด็กที่เกิดและเติบโตมาในวรรณะจัณฑาล ทำให้เขาถูกกดขี่จากสังคมอย่างรุนแรงเพราะเป็นจัณฑาล แต่ด้วยการศึกษาและการหันมาเปลี่ยนนับถือพุทธศาสนา ทำให้เขาได้หลุดพ้นจากความเป็นจัณฑาลและกลายเป็นบุคคลสำคัญ หนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของอินเดีย อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการ ลานกว้างประดับประดาด้วยเสาหัวช้า ที่รอบด้านมีรูปปั้นช้างเรียงรายถึง 60 เชือกเลยทีเดียว

ต้องบอกเลยว่าอนุสรณ์อัมเบดการ์เมมโมเรียลพาร์คพื้นที่กว้างขวางมาก ด้านในแทบไม่มีต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาเลย ผมมาช่วงบ่ายแก่ๆ เล่นเอาเดินแล้วเพลียกันไปเลย ที่นี่เหมาะกับการเดินชมช่วงแดดร่มลมตกมากกว่าครับ สำหรับค่าเข้าชมอนุสรณ์แห่งนี้ มีค่าธรรมเนียม 15 รูปีครับ


ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ความคิดเห็น